สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1658  พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองก็ได้ กล่าวคือ
(๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
(๒) กรมการอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
(๓) เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่าข้อความที่กรมการอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
(๔) ข้อความที่กรมการอำเภอจดไว้นั้น ให้กรมการอำเภอลงลายมือชื่อและลงวัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติอนุมาตรา ๑ ถึง ๓ ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ

วรรคสอง การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และกรมการอำเภอจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2561 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้คัดค้านยอมรับว่าผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าว แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยถูกหลอก และมีการสมคบกัน ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ผู้ตายไม่ได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพญาไท พยานในพินัยกรรมมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ก. ผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม และพินัยกรรมมีพิรุธ ผู้คัดค้านจึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นตามข้อกล่าวอ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ผู้ร้องหามีหน้าที่ต้องนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำพินัยกรรมและแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์มาเป็นพยาน เมื่อได้ความว่าผู้ตายแจ้งข้อความที่ตนประสงค์ให้เจ้าหน้าที่จดต่อหน้าพยานสองคน เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เห็นแล้วว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จึงทำพินัยกรรมให้ ฟังได้ว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ประกอบกับผู้คัดค้านไม่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นตามข้ออ้าง พยานหลักฐานผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานผู้ร้อง เมื่อพินัยกรรมมีรายการถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ตามพินัยกรรมข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ ก. และข้อ 3 ระบุว่า ได้ตัดทายาทโดยธรรมคนอื่น ๆ มิให้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย จึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3536/2560 ผู้ตายมาพบเจ้าพนักงานปกครอง และแจ้งความประสงค์ในการทำพินัยกรรม แล้วเจ้าพนักงานปกครองพิมพ์ข้อความในพินัยกรรมตามความประสงค์ของผู้ตาย เมื่อไปพบผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตแล้ว เจ้าพนักงานปกครองอ่านข้อความในพินัยกรรมให้ผู้ตาย ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขต และพยานสองคนฟัง ผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตสอบถามผู้ตายว่าต้องการเปลี่ยนแปลงข้อความในพินัยกรรมหรือไม่ ผู้ตายตอบว่าไม่เปลี่ยนแปลงและยืนยันตามข้อความในพินัยกรรม แล้วผู้ตายและพยานสองคนลงชื่อในพินัยกรรม ดังนี้ การสอบถามของผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขต และการยืนยันของผู้ตายดังกล่าวจึงเป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานสองคนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) แล้ว เมื่อผู้ตายเห็นว่าถูกต้องและลงชื่อในพินัยกรรมโดยมีพยานสองคนลงลายมือชื่อ และผู้ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการเขตลงชื่อรับรองว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1658 ส่วนที่คู่ฉบับพินัยกรรมไม่มีการประทับตราตำแหน่งไว้ ก็ไม่ทำให้พินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์เสียไป ผู้ร้องเป็นบุคคลที่ผู้ตายกำหนดในพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2552 พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งไม่ได้ทำต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 การแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก แม้ผู้ร้องจะไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แต่ผู้ร้องนำพินัยกรรมซึ่งเป็นโมฆะมายื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกย่อมทำให้เป็นที่หวาดระแวงแก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นในการรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินให้แก่ทายาทของเจ้ามรดก ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8189/2551 ผู้มีอำนาจจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองต้องเป็นกรมการอำเภออันหมายถึงนายอำเภอเท่านั้น และสามารถทำนอกที่ว่าการอำเภอได้ เมื่อมีการร้องขอ ดังนั้น การที่ผู้ร้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่อำเภอเมืองขอนแก่นขอให้ไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้แก่ผู้ตายที่โรงพยาบาล และแม้ ป. ซึ่งเป็นเพียงปลัดอำเภอเมืองขอนแก่นเป็นผู้จัดทำพินัยกรรม แต่ขณะทำพินัยกรรม ป. รักษาราชการแทนนายอำเภอ การที่ ป. ไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้แก่ผู้ตายที่โรงพยาบาลจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และแม้ผู้ร้องจะเป็นผู้แจ้งความประสงค์ให้ ป. ทราบว่าผู้ตายมีเจตนาทำพินัยกรรมอย่างไร จนเป็นเหตุให้ ป. สามารถให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อความต่างๆ ในพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่นจนเสร็จเรียบร้อยก่อนเดินทางไปโรงพยาบาลก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องหอบหิ้วเครื่องพิมพ์ดีด และกระดาษไปพิมพ์ที่โรงพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่เป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม และเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ป. สอบถามผู้ตายว่าประสงค์จะทำพินัยกรรมตามที่ผู้ร้องบอกกล่าวในเบื้องต้นหรือไม่ ผู้ตายก็ยืนยันต่อหน้าพยานสองคนว่าเป็นความประสงค์ของผู้ตายจริง การสอบถามของ ป. และการยืนยันของผู้ตายดังกล่าวจึงเป็นความหมายเป็นการแจ้งข้อความที่ประสงค์ให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของผู้ทำพินัยกรรมแก่นายอำเภอต่อหน้าพยานสองคนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 (1) หลังจากนั้น ป. อ่านข้อความให้ผู้ตายและพยานฟัง ผู้ตายเห็นว่าถูกต้องก็ลงชื่อในพินัยกรรมโดยมีพยานสองคนลงลายมือชื่อ ป. ลงชื่อรับรองว่าพินัยกรรมทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1658